top of page

พระกรรมฐาน

หลวงปู่ชา สุภทฺโท บูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง ได้เริ่มจาริกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวก เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยพักแรมภาวนาตามป่าบ้าง หรืออาศัยวัดบ้าง บางทีก็ภาวนาตามป่าช้า หรือวัดร้าง อีกทั้งยังได้มีโอกาสเข้าศึกษาระเบียบ ข้อปฏิบัติและพระธรรมวินัย กับครูบาอาจารย์ตามสำนักต่าง ๆ ที่ท่านไปพำนักอาศัย และได้อุบายในการภาวนาด้วย เมื่อใดที่หลวงปู่เดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขาหรือสถานที่วิเวกต่าง ๆ ท่านมีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดไม่ย่อหย่อน เพื่อเร่งความเพียร เป็นต้นว่า เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ สลับกันไปตลอดคืน หรือเดินจงกรมอย่างเดียว นั่งสมาธิอย่างเดียวตลอดคืน

“โดยมากพระกรรมฐาน หรือพระธุดงค์ที่อยู่ในป่าส่วนมาก ไม่ได้ศึกษาธรรมะตามตัวหนังสือ ไม่ได้เรียนตามบทเรียนในตำรา ท่านเรียนธรรมะจากอาการที่เกิดขึ้นในจิต หาความจริงจากธรรมชาติ”

Post-MainImage-Bio04.jpg

วัดหนองป่าพง

ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงปู่ชาพร้อมคณะเดินธุดงค์มาถึงชายป่าดงดิบอันหนาทึบ ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า “ดงหนองป่าพง” ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงปู่ประมาณ ๒ - ๓ กิโลเมตร หลวงพ่อได้ปรารภถึงเหตุที่เดินทางมาสถานที่แห่งนี้ว่า

“แต่ที่มาถึงวัดป่าพงนี้ก็มีญาติโยมแม่นิมนต์มา ก็ได้มานี่ มาอาศัย เพราะเราก็...ท่านเป็นผู้อุปการะมา แต่เกิดมาก็ยังไม่มีอะไรจะตอบแทนบุญคุณของท่าน เลยวกมาอยู่ที่วัดหนองป่าพงนี้ ...สมัยนั้นอาตมาเป็นเด็ก ๆ ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เสาร์... ท่านมาพักอยู่ที่นี่ โยมพ่อเคยได้มาฟังธรรมกับท่าน อาตมาเป็นเด็ก ๆ ยังจำได้ ความจำเช่นนี้มันติดอยู่ในใจตลอดเวลา นึกอยู่เสมอเลย… อันนั้นพระปฏิบัติเคยมาอาศัยอยู่นี้ เมื่อได้ออกประพฤติปฏิบัติแล้ว ความรู้สึกอันนี้มันมีในใจตลอดเวลา เมื่อหันหน้าเข้ามาทางบ้าน ก็นึกถึงป่านี้แหละมิได้ขาด”

แม้ป่าแห่งนี้จะเป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิตธุดงค์ของหลวงปู่ชา แต่ประสบการณ์จากชีวิตธุดงค์ ยังทรงไว้ซึ่งคติธรรมคำสอนอันล้ำค่าสำหรับกุลบุตรลูกหลานที่เข้ามาศึกษาปฏิบัติในสำนัก วัดหนองป่าพงแห่งนี้

Post-MainImage-Bio05.jpg
bottom of page